วันพุธที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ธนาคารต้นไม้



ธนาคารต้นไม้ เป็นโครงการที่มีรากฐานมาจากแนวพระราชดำริเรื่องการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ มีธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์(ธ.ก.ส.)เป็นผู้ดำเนินงาน โดยมีแนวคิดให้เกษตรกรปลูกต้นไม้ในที่ดินทำกินของตนเอง ต้นไม้ที่เจริญเติบโตจะไม่ได้เป็นเพียงต้นไม้แต่จะเป็นทรัพย์สินที่มีมูลค่าและมีคุณประโยชน์ใช้งาน ตามแนวพระราชดำริ ปลูกป่า 3 อย่าง ได้ประโยชน์ 4 อย่าง

            “...ป่าไม้ที่จะปลูกนั้น สมควรที่จะปลูกแบบป่าใช้ไม้หนึ่ง ป่าสำหรับใช้ผลหนึ่ง ป่าสำหรับใช้เป็นฟืนอย่างหนึ่ง อันนี้แยกออกไปเป็นกว้างๆ ใหญ่ๆ การที่จะปลูกต้นไม้ให้ได้ประโยชน์ดังนี้ ในคำวิเคราะห์ของกรมป่าไม้รู้สึกจะไม่ใช่ป่าไม้ แต่ในความหมายของการช่วยเหลือเพื่อต้นน้ำลำธารนั้น ป่าไม้เช่นนี้จะเป็นสวนผลไม้ก็ตาม หรือเป็นสวนไม้ฟืนก็ตามนั่นแหละเป็นป่าไม้ที่ถูกต้อง เพราะทำหน้าที่เป็นป่า คือ เป็นต้นไม้ และทำหน้าที่เป็นทรัพยากรในด้านสำหรับให้ผลที่มาเป็นประโยชน์แก่ประชาชนได้...”

            “...การปลูกป่า 3 อย่าง แต่ได้ประโยชน์ 4 อย่าง ซึ่งได้ไม้ผล ไม้สร้างบ้าน และไม้ฟืนนั้น สามารถให้ประโยชน์ได้ถึง 4 อย่าง คือ นอกจากประโยชน์ในตัวเองตามชื่อแล้ว ยังสามารถให้ประโยชน์ที่ 4 ซึ่งเป็นข้อสำคัญ คือ สามารถช่วยอนุรักษ์ดินและต้นน้ำลำธารด้วย...”

            “...การปลูกป่าถ้าจะให้ราษฏร์มีประโยชน์ให้เขาอยู่ได้ ให้ใช้วิธีปลูกไม้ 3 อย่าง แต่มีประโยชน์ 4 อย่าง คือ ไม้ใช้สอย ไม้กินได้ ไม้เศรษฐกิจ โดยรองรับการชลประทาน ปลูกรับซับน้ำ และปลูกอุดช่วงไหล่ตามร่องห้วย โดยรับน้ำฝนอย่างเดียว ประโยชน์อย่างที่ 4 ได้ระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ...”

...การปลูกป่าสำหรับใช้เป็นฟืนซึ่งราษฎรจำเป็นต้องใช้เป็นประจำ ในการนี้จะต้องคำนวณเนื้อที่ที่จะใช้ปลูก เปรียบเทียบกับจำนวนราษฎรตลอดจนการปลูกและตัดต้นไม้ไปใช้ จะต้องใช้ระบบหมุนเวียนและมีการปลูกป่าทดแทน อันจะทำให้มีไม้ฟืนสำหรับใช้ตลอดเวลา... 


  การปลูกต้นไม้ตามโครงการธนาคารต้นไม้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆ กับเกษตรกร ตั้งแต่การปรับเปลี่ยนแนวความคิดให้หันกลับมาดำรงชีวิตตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ส่งเสริมการออมให้แก่เกษตรกรโดยเปลี่ยนจากออมเงินในธนาคาร มาเป็นการออมด้วยการปลูกต้นไม้ ทำให้เกิดความมั่นคงกับชีวิตในระยะยาว มีที่อยู่อาศัย อาหาร พลังงานและยารักษาโรค สร้างความหวงแหนในที่ดินทำกิน ลดการบุกรุกทำลายป่าไม้เพื่อหาที่ทำกินใหม่

ในส่วนของเกษตรกรนอกจากจะได้ค่าตอบแทนจากมูลค่าไม้ ยังสามารถรวมกลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชนต่างๆ เช่นการแปรรูปผลิตผลทางการเกษตร เพาะจำหน่ายกล้าไม้ ผลิตถ่านและน้ำส้มควันไม้ ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ เป็นต้น ซึ่งจะช่วยสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับชุมชน ก่อให้เกิดความสามัคคี ความเข้มแข็ง พึ่งพากันและกัน ชุมชนเกิดการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ธนาคารต้นไม้ยังช่วยฟื้นความสมดุลของระบบนิเวศน์ เพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ ปลูกจิตสำนึกในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมให้กับเกษตรกรและชุมชน 

ในอนาคตธนาคารต้นไม้ยังจะเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจก(Carbon Offset) ยังสามารถขายคาร์บอนเครดิต(Carbon Credit) ให้กับองค์กรธุรกิจต่างๆ จะต้องซื้อเพื่อชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตามกลไกการพัฒนาที่สะอาด CDM (Clean Development Mechanism)

ธนาคารต้นไม้ จึงเป็นแนวคิดการจัดการด้านการเงินรูปแบบใหม่ให้กับเกษตรกรใช้เป็นทางเลือก มุ่งเน้นเรื่องของ คุณค่า มากกว่า มูลค่า สามารถใช้ต้นไม้เป็นหลักทรัพย์ในการประกอบธุรกรรมกับสถาบันการเงิน สร้างการออมพร้อมกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ลดปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม  พัฒนาประเทศไปสู่ความพอเพียง มั่งคั่ง ยั่งยืน




เกณฑ์มาตรฐานการประเมินมูลค่าต้นไม้ จำแนกเป็น 4 กลุ่ม ดังนี้

กลุ่มที่ 1 ต้นไม้ที่มีอัตราการเติบโตเร็ว รอบตัดฟันสั้น มูลค่าของเนื้อไม้ต่ำ
เป็นต้นไม้โตเร็ว อัตราการเจริญเติบโตจะสูงสุดในระยะเวลาอันสั้น เมื่อโตเต็มที่หากไม่ตัดมาใช้งาน คุณภาพของเนื้อไม้จะต่ำลง ส่วนมากใช้ในอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ ไม้แบบก่อสร้าง ชิ้นไม้สับเพื่อผลิตพลังงาน เช่น กระถินเทพณรงค์ กระถินเทพา กระถินยักษ์ สะเดา สนประดิพัทธ์ นนทรีป่า มะฮอกกานี จามจุรี เลี่ยน งิ้วป่า กระทุ่มบก สะตอ สะเดาเทียม ทุเรียนป่าเหรียง โกงกาง ทุ่งฟ้า สะเดาไทย เป็นต้น


กระถินเทพา


ยางนา

     กลุ่มที่ 2 ต้นไม้ที่มีอัตราการเติบโตปานกลาง รอบตัดฟันยาว มูลค่าของเนื้อไม้ค่อนข้างสูง
เป็นต้นไม้ที่อัตราการโตช้ากว่ากลุ่มที่ 1 แต่สามารถเติบโตได้เป็นเวลายาวนาน มูลค่าของเนื้อไม้จะเพิ่มมากขึ้นเมื่อต้นไม้มีขนาดใหญ่ขึ้นแต่จะไม่สูงมากนัก เนื่องจากการใช้ประโยชน์ยังมีข้อจำกัด คุณสมบัติของเนื้อไม้ที่ ไส กบ และตกแต่งยาก มักใช้ในอุตสาหกรรมไม้แปรรูป ก่อสร้าง ทำเฟอร์นิเจอร์ เช่น ประดู่ ยางนา ตะเคียนทอง แดง ทัง กันเกรา สนสองใบ สนสามใบ ยมหิน จำปาทอง(จำปาป่า) ประดู่ป่า สาธร ไข่เขียว สนทะเล เป็นต้น


























       
ไม้สัก
 กลุ่มที่ 3 ต้นไม้ที่มีอัตราการโตปานกลาง รอบตัดฟันยาว มูลค่าของเนื้อไม้สูง
เป็นต้นไม้ที่อัตราการโตช้ากว่ากลุ่มที่ 1     การเติบโตใกล้เคียงกับกลุ่มที่ 2  แต่มูลค่าเนื้อไม้สูงกว่า  เนื่องจากเนื้อไม้มีความสวยงาม แข็งแรง ทนทาน เป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ  ใช้ในอุตสาหกรรมไม้แปรรูป   ก่อสร้าง เฟอร์นเจอร์ราคาสูง เช่น ไม้สัก มะตูม เป็นต้น


มะค่าโมง


กลุ่มที่ 4 ต้นไม้ที่มีอัตราการโตช้า รอบตัดฟันยาว มูลค่าของเนื้อไม้สูงมาก  
เป็นต้นไม้ที่อัตราการโตช้ามาก  จึงไม่ค่อยนิยมปลูกกัน  แม้มูลค่าเนื้อไม้จะสูงมากก็ตาม เนื้อไม้มีความสวยงาม ใช้ในอุตสาหกรรมก่อสร้าง  เฟอร์นิเจอร์ราคาสูง  รวมถึงเหมาะกับการปลูกเพื่ออนุรักษ์   เนื่อจากเป็นต้นไม้ที่มีอายุยืน   เช่น  ไม้พยุง  ชิงชัน จันทร์หอม มะค่าโมง หลุมพอ เคี่ยม เป็นต้น




ที่มาข้อมูล :
- การธนาคารต้นไม้ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์


ที่มาภาพ :
- กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช
- ชุมชนนักปฏิบัติกองอาหารสัตว์ (กระถินเทพา)
- กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ศภ.5 (ยางนา, มะค่าโมง)







ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น